ข้าวใหม่ปลามัน ต้องระวังโรคฮันนีมูน (Honeymoon Disease)
ข้าวใหม่ปลามัน ต้องระวังโรคฮันนีมูน
การที่เรามีปัญหากับปัสสาวะ ไม่ว่าจะเป็นอาการปัสสาวะแสบขัด แสบบริเวณปากข่องคลอด กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ หรือปวดท้องน้อยร่วมด้วย อาการเหล่านี้เป็นสัญญาณที่บอกให้รู้ว่าร่างกายน่าจะไม่สบายอยู่แน่ๆ โดยเฉพาะในส่วนของอวัยวะภายใน บริเวณกระเพาะปัสสาวะ ที่น่าจะเกิดจากการอักเสบ ติดเชื้อ หรือหากสังเกตได้ว่ามีอาการผิดปกติหลังมีเพศสัมพันธ์ ลองมาทำความรู้จักโรคฮันนีมูน ซิสไตติส (Honeymoon Cystitis) แล้วเช็กอาการ
โรคฮันนีมูน ซิสไตติส เกิดจากอะไร
โรคฮันนีมูนเกิดจากภาวะติดเชื้อ ซึ่งด้วยลักษณะทางกายภาพของเพศหญิง จะสัมพันธ์กับทางเดินปัสสาวะ รวมทั้งทวารหนัก ซึ่งจะอยู่ใกล้ๆ กันมาก จึงมีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะเกิดการติดเชื้อของกระเพาะปัสสาวะมากกว่า ผู้ชาย และเมื่อมีกิจกรรมทางเพศโดยการสอดใส่เข้าไปในช่องคลอด ทำให้เชื้อโรคเคลื่อนเข้าสู่ภายใน จนเกิดการติดเชื้อขึ้น ทั้งนี้การมีเพศสัมพันธ์บ่อยๆ ไม่ใช่สาเหตุของโรคเพียงอย่างเดียว ยังมีปัจจัยอื่นๆ ได้แก่
- การดื่มน้ำน้อยเกินไป
- พฤติกรรมชอบกลั้นปัสสาวะ
- ภูมิคุ้มกันของร่างกายต่ำ
- ผู้ที่มีประวัติการรักษาด้วยวิธีผ่าตัด หรือฉายแสงบริเวณอวัยวะเพศ รวมทั้งกระเพาะปัสสาวะ
เช็กอาการโรคฮันนีมูน
- มีอาการแสบบริเวณปลายท่อปัสสาวะหรือบริเวณปากช่องคลอดขณะถ่ายปัสสาวะ
- แสบขัดขณะปัสสาวะ
- ไม่สามารถกลั้นปัสสาวะได้
- ปัสสาวะไม่สุด หรือรู้สึกปัสสาวะไม่สุด ทำให้ต้องเข้าห้องน้ำหลายครั้ง
- อาจมีอาการปวดหรือแสบบริเวณท้องน้อยร่วมด้วยทั้งตอนปวดและไม่ปวดปัสสาวะ
- ปัสสาวะบ่อยทั้งกลางวันและกลางคืน อาการนี้อาจพบได้ในกรณีมีภาวะกระเพาะปัสสาวะอักเสบร่วมด้วย
การวินิจฉัยโรคฮันนีมูน
แพทย์จะสอบถามประวัติ อาการของโรค และการมีเพศสัมพันธ์ หลังจากนั้นจะทำการตรวจร่างกายอย่างละเอียด โดยตรวจการเพาะเชื้อปัสสาวะ เพื่อหาเชื้อแบคทีเรีย และเพื่อดูว่ามีการอักเสบหรือไม่
การรักษาโรคฮันนีมูน
การรักษาโรคฮันนีมูน ซิสไตติส ในเบื้องต้นก็ควรงดกิจกรรมทางเพศไว้ก่อน และดื่มน้ำมากๆ เพื่อให้น้ำช่วยขับเชื้อโรคออกจากร่างกายผ่านทางปัสสาวะ ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้โรคฮันนีมูนหายได้เองภายใน 5 - 7 วัน
แต่ในกรณีที่มีอาการมาก เช่น ปวดท้องน้อยหนักๆ ปัสสาวะแสบขัดไม่หาย ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างละเอียดอีกที เพราะหากไม่รักษาโรคฮันนีมูนให้หาย อาจเสี่ยงต่อภาวะอักเสบและติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะส่วนบน อาทิ กรวยไต หลอดไต ซึ่งอาจส่งผลกระทบในระยะยาวหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง หรือในถ้าแย่มากๆ อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อในกระแสเลือดก็ได้
- งดการทำกิจกรรมทางเพศทุกรูปแบบ
- ดื่มน้ำในปริมาณมากกว่าปกติ เพื่อขับเชื้อโรค
- หากปฏิบัติตามในข้างต้น อาการจะบรรเทาลง และหายขาดภายใน 5-7 วัน
- แต่ถ้ามีอาการรุนแรง และความผิดปกติอื่นๆ หรือตรวจพบการติดเชื้อบริเวณกระเพาะปัสสาวะ แพทย์จะให้รับประทานยาปฏิชีวนะ
ภาวะแทรกซ้อนของโรคฮันนีมูน
ผู้ป่วยโรคฮันนีมูนที่ทำการรักษาไม่หายขาด และยังคงทำกิจกรรมทางเพศอย่างผิดหลักสุขอนามัย มีความเสี่ยงที่อวัยวะส่วนบนในระบบทางเดินปัสสาวะจะติดเชื้อโรค และเกิดการอักเสบ เช่น ไต กรวยไต ต่อมหมวกไต และท่อไต ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรง คือการติดเชื้อในกระแสโลหิต จนถึงขั้นเป็นอันตรายแก่ชีวิตได้ในที่สุด และก่อให้เกิดโรคต่างๆ เช่น โรคไต เนื้องอกในกระเพาะปัสสาวะ และนิ่วในไต เป็นต้น
โรคฮันนีมูน ป้องกันได้
- ดื่มน้ำอย่างน้อย 8 แก้วต่อวัน
- ดูแลสุขอนามัยบริเวณอวัยวะเพศให้ดี
- มีเพศสัมพันธ์อย่างเหมาะสม และหลังจากมีเพศสัมพันธ์ควรไปปัสสาวะและทำความสะอาดบริเวณท่อปัสสาวะ รวมไปถึงอวัยวะเพศ
- ไม่ควรกลั้นปั้สสาวะเป็นเวลานาน หรือกลั้นปัสสาวะบ่อยๆ
- ใส่ใจและสังเกตการปัสสาวะของตัวเองให้ดีว่ามีอาการผิดปกติอะไรไหม โดยเฉพาะหลังมีเพศสัมพันธ์บ่อยครั้งในเวลาสั้น ๆ หรือหลังฮันนีมูน
- ตรวจสุขภาพประจำปี
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
การป้องกันโรคฮันนีมูน
- ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
- ทำความสะอาดอวัยวะเพศอย่างถูกสุขอนามัย
- หลีกเลี่ยงพฤติกรรมกลั้นปัสสาวะ
- ทำกิจกรรมทางเพศอย่างเหมาะสม ไม่หมกมุ่นจนเกินไป
- หลังจากมีเพศสัมพันธ์ควรปัสสาวะทันที
- หากมีอาการปัสสาวะที่ผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์ และไม่ควรหาซื้อยามาใช้เอง
โรคฮันนีมูนอาจเกิดกับคนที่ดื่มน้ำน้อย ผู้ที่ชอบกลั้นปัสสาวะนานๆ หรือมีการผ่าตัด การฉายแสงบริเวณอวัยวะเพศมาก่อน และในกรณีของคนที่มีภูมิต้านทานต่ำกว่าปกติ ดังนั้นหากอยู่ในกลุ่มเสี่ยงดังกล่าวก็ควรดูแลสุขอนามัยของตัวเองให้ดีกว่าปกติ และมีเพศสัมพันธ์อย่างเหมาะสม
สนับสนุนข้อมูลโดย : พญ. กมลพร เชาว์วิวัฒน์กุล แพทย์เฉพาะทางด้านมะเร็งนรีเวช สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
ศูนย์การแพทย์ : ศูนย์สตรี ชั้น 8 โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 1745